เวียนศีรษะจนบ้านหมุน สาเหตุของอาการเหล่านี้

อาการเวียนศีรษะแบบบ้านหมุน (Vertigo) หรือ อาการบ้านหมุน เป็นความรู้สึกเวียนศีรษะ ซึ่งทำให้ผู้ที่มีอาการไม่สามารถทำงานหรือเรียนหนังสือได้ตามปกติ วันนี้เราขอแนะนำข้อควรปฏิบัติเกี่ยวกับวิธีการ แก้อาการบ้านหมุน ที่จะช่วยให้คุณอาการดีขึ้น

ความหมายของอาการบ้านหมุน
อาการบ้านหมุนเป็นภาวะหนึ่งที่มีความรู้สึกว่า โลกโดยรอบตัวของเรากำลังหมุน ปัญหาเกี่ยวกับหูชั้นในเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการบ้านหมุน

สาเหตุอาการบ้านหมุน
ตามที่กล่าวไว้ข้างต้น ปัญหาเกี่ยวกับหูชั้นในทำให้เกิดอาการบ้านหมุน ซึ่งปัญหาดังกล่าว ได้แก่

หินปูนในหูชั้นในเคลื่อน
เมื่ออาการหินปูนในหูชั้นในเคลื่อน (Benign Paroxysmal Positional Vertigo: BPPV) เกิดขึ้น แคลเซียมจำนวนหนึ่งจะเกิดการสะสมตัว หรือมีอนุภาคหลุดเข้าไปอยู่ในช่องหูชั้นใน แล้วหูส่งสัญญาณที่ผิดไปยังสมอง ซึ่งทำให้เสียสมดุลของร่างกาย ไม่มีเหตุผลที่แน่ชัดสำหรับ BPPV อาจเป็นปัญหาเกี่ยวกับอายุที่มากขึ้น

น้ำในหูไม่เท่ากัน
เป็นที่เชื่อกันว่าภาวะน้ำในหูไม่เท่ากัน (Meniere’s Disease) เกิดขึ้นเมื่อของเหลวสะสมตัวในหู ซึ่งส่งผลต่อความดันปกติในหู

เส้นประสาทการทรงตัวในหูอักเสบ
การติดเชื้อไวรัสเป็นสาเหตุที่พบได้มากที่สุดของปัญหาเส้นประสาทการทรงตัวในหูอักเสบ (Vestibular Neuritis) เมื่ออาการนี้เกิดขึ้น ทำให้เกิดการอักเสบที่ส่งผลต่อเส้นประสาทของหูชั้นใน ซึ่งทำหน้าที่ในการคงความสมดุลของร่างกาย

 

แก้อาการบ้านหมุน วิธีนี้ช่วยคุณได้

ในบางครั้ง อาการบ้านหมุนจะหายไปเอง โดยไม่ต้องมีการรักษาเฉพาะใดๆ ในทางกลับกัน ในหลายกรณี อาการบ้านหมุนจำเป็นต้องได้รับการรักษาอย่างเหมาะสม การรักษาขึ้นอยู่กับสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการ

การฟื้นฟูเส้นประสาทการทรงตัว
ระบบประสาทการทรงตัวทำหน้าที่ส่งสัญญาณต่างๆ เกี่ยวกับการเคลื่อนไหวของร่างกายไปยังสมอง ส่งผลดีให้สมองทราบและปรับเพื่อทำให้ทรงตัวได้ การฟื้นฟูเส้นประสาทการทรงตัว (Vestibular rehabilitation) เป็นการบำบัดประเภทหนึ่งที่ช่วยให้ระบบประสาทการทรงตัวแข็งแรงมากขึ้น

การทำให้หินปูนในหูชั้นในกลับเข้าที่เดิม
การบำบัดด้วยการทำให้หินปูนในหูชั้นในกลับเข้าที่เดิม (Canalith repositioning maneuvers) วิธีนี้ใช้เพื่อจัดการภาวะ BPPV ประกอบด้วยการเคลื่อนไหวศีรษะและร่างกาย เพื่อทำให้อนุภาคแคลเซียมออกจากช่องหูชั้นใน แล้วอนุภาคดังกล่าวมีการดูดซึมโดยร่างกาย การบำบัดด้วยวิธีนี้ต้องได้รับคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญ เพื่อให้ได้ผลที่ปลอดภัยที่สุด และมีประสิทธิภาพมากที่สุด

การใช้ยา
หากอาการบ้านหมุนเกิดจากการติดเชื้อไวรัส ผู้ป่วยจะได้รับยาปฏิชีวนะ (antibiotics) หรือสเตียรอยด์ (steroids) สารเหล่านี้สามารถจัดการอาการบวมและต้านการติดเชื้อ

หากมีอาการน้ำในหูไม่เท่ากัน แพทย์อาจให้ยาขับปัสสาวะ (diuretics) แก่ผู้ป่วยเพื่อจัดการการสะสมตัวของของเหลว

การผ่าตัด
ในกรณีอื่นๆ บางประการ ผู้ป่วยอาจจำเป็นต้องได้รับการผ่าตัดเพื่อรักษาอาการรู้สึกหมุน

เนื่องจากในบางครั้งอาการบ้านหมุนเกิดจากความผิดปกติประจำตัว เช่น เนื้องอกหรืออาการบาดเจ็บที่คอหรือสมอง ในกรณีนี้ การผ่าตัดเพื่อกำจัดสาเหตุดังกล่าวจึงจะสามารถช่วยผู้ป่วยได้เท่านั้น

อากาศร้อนๆ อย่ามองข้าม โรคลมแดด ร้ายแรงถึงชีวิต

โรคลมแดด คือโรคที่เกิดจากความร้อนชนิดหนึ่ง โดยโรคที่เกิดจากความร้อนนั้นมีหลายระดับ ซึ่งโรคลมแดดเป็นภาวะฉุกเฉินที่รุนแรงที่สุด ถ้าได้รับการรักษาไม่รวดเร็วเพียงพอ อาจส่งผลให้คนไข้ถึงแก่ชีวิตได้ โดยในหนึ่งปีมีคนไข้เสียชีวิตจากโรคนี้เฉลี่ยกว่า 800 ราย

โดยปกติแล้วร่างกายของเราจะมีการสร้างความร้อนอยู่ภายในแล้วก็ค่อยๆ สลายความร้อนออกไป คือถ้าอุณหภูมิข้างนอกสูงขึ้น หรือ อุณหภูมิภายในร่างกายสูงขึ้น ร่างกายเราจะขับความร้อนออกมาด้วยวิธีการดังนี้

  1. การแผ่ความร้อน คือการแผ่ออกไปในอากาศรอบๆ
  2. การนำความร้อน คือการที่มีวัตถุมาสัมผัส เช่นการเอาผ้าชุบน้ำมาโปะไว้ที่หน้าผาก
  3. การพาความร้อน เช่น การอาบน้ำ

แต่วิธีการที่ร่างกายเราใช้เป็นหลักคือการแผ่ความร้อน โดยเส้นทางที่จะทำให้ความร้อนออกจากร่างกายก็คือเหงื่อ ซึ่งปกตินั้นร่างกายของเราจะคงอุณหภูมิไว้ได้ที่ 36-37 องศา แต่ถ้าอุณหภูมิสูงขึ้นก็จะมีกลไกไปบอกสมอง บริเวณ “ไฮโปทาลามัส” ที่จะทำให้เส้นเลือดขยายตัวโดยเฉพาะที่ผิวหนังและมีการสร้างเหงื่อเพิ่มขึ้น เพื่อช่วยลดการสร้างความร้อนในร่างกาย จากนั้นร่างกายจะสั่งให้ปรับพฤติกรรมเพื่อให้รับมือกับความร้อนได้ เรียกว่า ขบวนการขับความร้อน แต่ถ้าอากาศชื้นมากกลไกนี้ก็จะเสียไป เพราะฉะนั้นหากอุณหภูมิสูงผนวกกับความชื้นสูง ถือว่าเป็นความเสี่ยงที่จะเกิดปัญหาเกี่ยวกับโรคความร้อนโดยเฉพาะลมแดด

ลักษณะอาการของโรคที่เกิดจากความร้อน

  1. มีภาวะบวมจากความร้อน ในส่วนของเท้ากับข้อเท้า แต่ถ้าเราลดอุณหภูมิและหลีกเลี่ยงความร้อนได้ อาการเหล่านี้ก็จะยุบลง หรือบางทีจะหายไปเอง
  2. เป็นผื่นที่เกิดจากความร้อน หรือผื่นแดด มีลักษณะเป็นผื่นแดง คัน มีตุ่มแดงๆขึ้นตามร่างกาย ในลักษณะคล้ายการเป็นผด ซึ่งแก้ด้วยการใส่เสื้อผ้าที่บางเบาเพื่อคลายความร้อน
  3. ตะคริวแดด คือเมื่อความร้อนสูงขึ้นก็จะเกิดการเป็นตะคริว โดยเฉพาะบริเวณน่อง ซึ่งปกติจะเจอในกลุ่มคนที่ออกกำลังกาย แต่คนไข้ที่สัมผัสกับอุณหภูมิที่สูงขึ้นก็สามารถเป็นได้เช่นกัน ซึ่งเป็นผลมาจากการสูญเสียเกลือแร่ ซึ่งแก้ด้วยการทานน้ำเกลือแร่ชดเชยในกรณีที่อาการไม่เยอะ แต่ถ้าอาการหนักขึ้น ควรพบแพทย์
  4. เพลียแดด จะเริ่มมีอาการเยอะขึ้น มีการคลื่นไส้ อาเจียน ปวดหัว เวียนหัว ท้องเสีย อาจมีการหน้ามืด ใจสั่น ความดันโลหิตสูง แก้ได้โดยทานน้ำเกลือแร่
  5. ลมแดด เป็นภาวะที่อุณหภูมิของร่างกายเกิน 40 องศา ร่วมกับอาการทางระบบประสาท โดยเฉพาะการเปลี่ยนแปลงของความรู้สึก เช่น ซึม สับสน หรือบางทีอาจจะถึงขั้นชักและหมดสติได้เลย

นอกจากนี้ความร้อนยังส่งผลต่อร่างกายทำให้เซลล์ทำงานผิดปกติ และเซลล์สามารถตายได้ อีกทั้งยังส่งผลให้อวัยวะต่างๆทำงานผิดปกติหรือล้มเหลวได้หลายระบบมาก เช่น ตับ ไต กล้ามเนื้อสลาย เกลือแร่ผิดปกติ เป็นผลให้เสียชีวิตได้ เพราะฉะนั้นหากเราพบผู้ที่เป็นลมแดดเราควรจะปฐมพยาบาลเบื้องต้นในทันทีโดย

  • นำคนไข้ออกมาที่เย็น ถอดเสื้อผ้าเพื่อระบายความร้อน
  • พ่นละอองน้ำ หรือพรมน้ำ เอาพัดลมมาเป่า ซึ่งช่วยในการระเหย
  • สามารถวางน้ำแข็ง ผ้าเย็น ไว้แค่บางจุด เช่นคอ หรือหน้าผาก